การต่อสู้ที่ไม่มีวันชนะ

23_158
การต่อสู้เมื่อปี 2550 หน้ารัฐสภา

สืบเนื่องจากที่สมาพันธ์สุราชุมชนแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาของสุราชุมชน ทั้งด้านการผลิต และด้านภาษี โดยนำหนังสือไปยื่นต่อศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 นั้น ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมสรรพสามิต และบัดนี้ กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือตอบมาแล้ว

รายละเอียดของหนังสือร้องเรียน สามารถอ่านได้จากบทความนี้

https://surathai.wordpress.com/2014/09/22/submit-complaint/

บัดนี้กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือที่ กค 0615/19708 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ความว่า

อ้างถึง หนังสือลงวันที่ 15 กันยายน 2557

ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการใช้จ่ายภาษีสุราของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม และขอความช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการสุราชุมชน ให้สามารถพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสุราพื้นบ้านของไทยให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ โดยเสนอแนวทางแก้ไขหลายประการ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

กรมสรรพสามิต ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการทำสุรากลั่นชุมชนดังนี้

1. การอนุญาตให้ทำสุรากลั่นชุมชน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2546 ที่เห็นชอบนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน โดยส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางการเกษตรทำสุรากลั่นชุมชนของประชาชนในท้องถิ่นที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นการรับรองสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน สุรากลั่นชุมชนที่อนุญาตให้ทำได้นั้น เป็นสุรากลั่นชนิดสุราขาว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยจึงมิใช่สุรากลั่นชนิดสุราพิเศษประเภทวิสกี้ บรั่นดี หรือวอดก้า ที่มีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างจากสุราขาวอย่างชัดเจน และมีอัตราภาษีสุราที่แตกต่างกัน หากใช้คำว่า วิสกี้ บรั่นดี หรือวอดก้า บนฉลากสุรากลั่นชุมชน อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคลาดเคลื่อนในชนิดของสุราได้

2. ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ได้กำหนดชนิดของสุราและอัตราภาษีสุรา โดยแยกสุรากลั่นชนิดสุราขาว (รวมถึงสุรากลั่นชุมชน) ออกจากสุรากลั่นชนิดอื่นๆ และกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกัน หากมีการกำหนดอัตราภาษีของสุราขาวที่ทำจากวัตถุดิบประเภทข้าว ข้าวเหนียว ข้าวโพด หรือผลไม้ ให้ต่ำกว่าสุราขาวที่ทำจากกากน้ำตาล จะทำให้เกิดผลกระทบกับสุรากลั่นชุมชนอีกจำนวนมากที่ใช้วัตถุดิบประเภทกากน้ำตาล

3. เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคมมาก ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค อีกทั้งการทำสุรากลั่นชนิดที่เรียกกันว่าสุราสีนั้น มีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนกว่าสุราขาว จึงต้องมีการตรวจสอบและควบคุมมากขึ้น กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำสุราสีดังกล่าวให้เป็นลักษณะอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้อย่างรัดกุม รวมถึงสามารถบริหารการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การกำหนดขนาดบรรจุของสุรากลั่นชนิดสุราขาว (รวมถึงสุรากลั่นชุมชน) มีความจำเป็นต่อการบริหารการจัดเก็บภาษีสุรา เพราะสามารถป้องกันมิให้มีการนำแสตมป์สุรากลั่นชุมชนขนาดบรรจุเล็กไปปิดภาชนะบรรจุขนาดใหญ่กว่าอันเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งนี้ การกำหนดขนาดบรรจุใช้บังคับกับสุรากลั่นชุมชนและสุราขาวที่ทำจากโรงงานสุราขนาดใหญ่อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมสรรพสามิตส่งเสริมให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำสุราสามารถส่งสุราที่ทำออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ โดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีสุรา กรณีสุราขาวที่มีการกำหนดขนาดบรรจุสุราไว้นั้น ไม่รวมถึงสุราขาวที่ทำเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำสุรากลั่นชุมชนสามารถทำสุรากลั่นขนาดบรรจุต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศได้

เว็บสุราไทยขอสรุปใจความว่า

  • ไม่มีทางที่สุราชุมชนจะผลิตยิน รัม วอดก้า วิสกี้
  • ไม่มีทางที่สุราชุมชนจะมีโอกาสผลิตสุราสี
  • ไม่มีทางที่จะผลิตสุราบรรจุขนาด 150 ซีซี
  • ไม่มีทางที่จะลดภาษีสุราชุมชนให้ต่ำกว่าสุราขาวของโรงงานสุรา

ทบทวนความจำ….เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 เราได้จัดเสวนาคัดค้านร่าง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ หลังจากที่ได้แสดงสัญลักษณ์ด้วยการเทเหล้า แต่ พรบ. ดังกล่าวก็ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายอยู่ดี

https://surathai.wordpress.com/2007/05/23/critical50/

แหละนี่คือการต่อสู้ที่ไม่มีวันชนะ

2 comments

  1. […] การยื่นหนังสือเพื่อขอเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายโดยส่งผู้แทนเพียง 2 – 3 คน ย่อมไม่ต่างกับการส่งจดหมายไปยังซานตาคลอสที่ขั้วโลกเหนือ ดังตัวอย่างนี้ […]

    Like

Leave a comment